ชีวิตที่พอเพียง  4710. รัฐบาลทหารกับวัฒนธรรมสงครามเย็น : สงครามอินโดจีนกับการควบคุมความจริง


 

บทที่ ๓ ของหนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ การเมือง วัฒนธรรม ของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน ๑๔ ตุลาฯ  โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ   ชื่อ รัฐบาลทหารกับวัฒนธรรมสงครามเย็น : สงครามอินโดจีนกับการควบคุมความจริง    ผมได้ลงข้อสะท้อนคิดจากการอ่านบทที่ ๑ และบทนำไปแล้วที่ (๑)   และบทที่ ๒ ที่ ()    

ขอแสดงความชื่นชมว่า ผู้เขียนตั้งชื่อบทได้ตรงความจริงดีมาก 

เรื่องสงครามอินโดจีนคุกคามความสงบสุขและอิสรภาพของประเทศไทยน่าจะเป็นความจริง   แต่เมื่อมองย้อนหลังก็ชัดเจนว่ารูปแบบของสงครามจิตวิทยาที่อเมริกันใช้กับประเทศไทยนั้น เกินความจริงมาก   และในยุครัฐบาลคึกฤทธิ์ปี ๒๕๑๘ ท่านรู้เท่าทันอเมริกันดีมาก  วิธีผูกมิตรกับจีนของท่านทำให้การสู้รบในป่ากับกองโจรคอมมูนิสต์ค่อยๆ คลายลงอย่างรวดเร็ว   

หนังสือเล่มนี้สะท้อนประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ผูกพันกับอเมริกาอย่างแนบแน่น   ในการทำสงครามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์    โดยผู้ครองอำนาจการเมืองไทยมีแรงจูงใจหลัก ๒ ด้านคือ  (๑) ปกป้องประเทศจากการถูกคอมมิวนิสต์ยึดครอง (๒) เพื่อรับเงินช่วยเหลือจากอเมริกา   ซึ่งแรงจูงใจประการหลังนี้นำสู่วัฒนธรรมคอร์รัปชั่น  ที่ยังกัดกร่อนสังคมไทยมาจนปัจจุบัน   

สมัยนั้นการควบคุมความจริง  และการปล่อยข่าวครึ่งเท็จครึ่งจริง ที่เป็นข่าวลวง ทำง่ายมาก    และคนที่รู้ก็ไม่กล้าโวย เพราะเกรงถูกจับ   เพราะรัฐบาลทหารสมัยนั้นมีอำนาจล้นฟ้า   หัวหน้าคณะปฏิวัติอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖ สั่งยิงเป้าคนได้

ช่วงฤดูร้อนปี พ.ศ. ๒๕๐๘   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลร่วมมือกับ รพช. (สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท) และกระทรวงมหาดไทย   ทดลองจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ไปให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกล อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี (ในขณะนั้น)   หัวหน้าทีมคือ ศ. นพ. เกษม ลิ่มวงศ์ อาจารย์ภาควิชาศัลยศาสตร์   รองหัวหน้าคือ นพ. สารรัตน์ ยงใจยุทธ  แพทย์ประจำบ้านปีที่ ๓ ภาควิชาอายุรศาสตร์   มีนักศึกษาแพทย์ปี ๓ ขึ้น ๔ (ปีสุดท้ายในขณะนั้น) ๗ - ๘ คนเป็นกองกำลังที่ร้อนวิชา    ผมเป็นหนึ่งในนั้น    มี นศพ. วิชัย วนดุรงค์วรรณเป็นหัวหน้าทีมนักศึกษา    สมาชิกที่จำได้มี สุรพล อัครปรีดี,   นิคม วรรณราชู,  ชวลิต ภัทราชัย,  ไพโรจน์ เวียงแก้ว,  เป็นต้น  

เราไปพบว่า มีฐานทัพอเมริกันในพื้นที่มหึมาของจังหวัดอุดร   มีเครื่องบินขึ้นลงขวักไขว่    มีทหารอเมริกันออกมาเที่ยวกลางคืนในเมืองอย่างโจ่งแจ้ง   แต่นักศึกษาแพทย์อย่างเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย   และเมื่อรู้แล้วคนที่รู้ก็พร้อมใจกันไม่โวยวาย    คล้ายๆ ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ    สภาพการควบคุมความจริงเช่นนี้ไม่มีทางเป็นไปได้ในยุคปัจจุบัน   

หนังสือหน้า ๑๔๕ – ๑๔๖ ระบุว่า มีฐานทัพอเมริกันในประเทศไทยถึง ๘ แห่ง    บอกปีที่เปิดไว้ด้วย   

เรื่องราวในบทที่ ๓ นี้  เป็นเรื่องการควบคุมความจริง  และการเปิดเผยความจริง    ที่มีรายละเอียดน่าสนใจมาก    และเป็นไปตามภาษิตที่ว่า “ความลับไม่มีในโลก”   ลงท้ายความจริงสำคัญๆ ก็ถูกเปิดเผยโดยสหรัฐอเมริกา    ช่วงเดือนกันยายน ๒๕๑๐ ถึงสิงหาคม ๒๕๑๑ ผมไปเรียนต่อที่อเมริกา พบว่าข่าวเรื่องสงครามเวียดนามและฐานทัพในไทยโจ๋งครึ่มมาก    เปิดเผยกว่าข่าวในประเทศไทยมาก   

จอมพลถนอม นายกรัฐมนตรีไปเยือนอเมริกา   โดนนักศึกษาและประชาชนอเมริกันถือป้ายประท้วง    ผมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย    ทางเจ้าหน้าที่ของไทยตกใจกันมาก    ไม่ทราบว่าทำไมเขาพาท่านไปที่เมือง แอนน์ อาเบอร์ รัฐมิชิแกน แหล่งนักศึกษาจำนวนมาก   ที่เป็นกลุ่มต่อต้านสงครามเวียดนาม 

ที่จริงในสงครามเย็นก็มีการต่อสู้จากฝ่ายตรงกันข้าม    ที่ในหนังสือเอ่ยถึงน้อยไป    รวมทั้งการแทรกแซงเข้ามาทางนักศึกษา และนักเคลื่อนไหวบางคน   หนังสือยังเอ่ยถึงน้อยไป   

หนังสือประวัติศาสตร์ดีๆ เช่นนี้ ช่วยให้เราตระหนักว่า “ความจริง” ที่เรากำลังเผชิญในชีวิต อาจเป็นเพียงบางส่วนของความจริงที่แท้     

วิจารณ์ พานิช

๑๑ มี.ค. ๖๗

670425, รัฐบาลทหารกับวัฒนธรรมสงครามเย็น, สงครามอินโดจีนกับการควบคุมความจริง,

 

 

หมายเลขบันทึก: 717968เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2024 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2024 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท