ค่ายคนพันธุ์ครู EDU CAMP ครั้งที่ 3


ผมมองว่า นิสิตที่ขับเคลื่อนงานนี้ชาญฉลาดไม่ใช่ย่อย ไม่ต้องเสียเวลาออกไปตระเวนแนะแนวการศึกษา หรือประชาสัมพันธ์ความเป็น “มมส”  ให้เปลืองงบ  เปลืองเวลา แต่เลือกที่จะ “เปิดบ้าน”  ให้นักเรียนที่สนใจเข้ามาดูสถานที่จริง มาใช้ชีวิตกับพี่นิสิต มาสร้างเครือข่ายร่วมกันทั้งนิสิต นักเรียน ครู ผู้บริหารคณะ อาจารย์ เจ้าหน้าที่

 

 

ค่ายคนพันธุ์ครู EDU CAMP ครั้งที่ 3  ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5-8 มกราคม 2567 ที่ขับเคลื่อนโดย สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) มีวัตถุประสงค์โดยรวม คือ การแนะแนวการศึกษาต่อให้กับนักเรียนมัธยมปลายจากทั่วประเทศไทย 

 

จะว่าไปแล้ว  มองผิวเผินก็เป็นกิจกรรมแนะแนวการศึกษาจริงๆ นั่นแหละครับ  เป็นการแนะแนวการศึกษาที่ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์คณะศึกษาศาสตร์ ของ “มมส”  หรือเรียกได้ง่ายๆ ก็คือการเชื้อเชิญให้นักเรียนได้เข้ามาเรียนรู้ตัวตนของ มมส – 

 

เป็นการเรียนรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้าสู่การบ่มเพาะความเป็นแม่พิมพ์ของชาติผ่านระบบ กลไกของ “มมส” หรือไม่

 

 

คำว่ามองผิวเผินในมุมของผม หมายถึง  เป็นการแนะแนวการศึกษา  ที่ประกอบด้วยกิจกรรมอันเป็น “ขนบนิยม” ทั่วไป เป็นต้นว่า เทคนิคการทำข้อสอบ เทคนิคการสอบสัมภาษณ์ เทคนิคการนำแฟ้มประวัติ (Portfolio)  การทำแผนการสอน  การทดสอบการสอน 

 



แต่ในความเป็นจริง นอกจากกิจกรรมอันเป็นขนบนิยมข้างต้น  กลับกลายพบว่า  นิสิตได้ออกแบบกิจกรรมในลักษณะของ “ค่าย”  อย่างน่าสนใจ ไม่ใช่แค่มุ่งเน้นการแนะแนวการศึกษาเท่านั้น  แต่บูรณาการกิจกรรมต่างๆ เข้ามาอีกหลายกิจกรรม  บนฐานคิดสำคัญๆ เช่น

  • ผู้เรียนรู้เป็นศูนย์กลาง
  • การเรียนรู้เชิงรุก
  • การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ
  • บันเทิงเริงปัญญา

ซึ่งมีกิจกรรมอื่นๆ ผสมผสานเข้ามา เช่น  ลักเลาะ มมส. (เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยฯ)  กีฬาฮาเฮ  สันทนาการ ทำบุญตักบาตร บำเพ็ญประโยขชน์ เรียกได้ว่า มาเข้าค่ายครั้งนี้ ไม่เพียงมารับความรู้ หรือมารับแรงบันดาลใจ  ตลอดจนการค้นหาตัวตนของตัวเองเท่านั้น  แต่ยังหมายถึงนักเรียนได้มาเรียนรู้ความเป็น “ชีวิต”  - มาเรียนรู้ “เครือข่ายชีวิต” หรือ “เครือข่ายทางการศึกษา” ไปในตัว 

เป็นครือข่ายในมิติ นิสิตกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียน ทะลุถึงเครือข่ายบุคลากรทางการศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

 

 

โดยส่วนตัวของผม – ผมมองว่ากิจกรรมครั้งนี้  มององค์รวมมี 2 มิติใหญ่ๆ คือการแนะแนวการศึกษา และการ “เปิดบ้าน” ให้นักเรียนเข้ามาสัมผัสตัวตนของมหาวิทยาลัย นั่นเอง  เป็นการมาสัมผัสด้วยตนเอง  ก่อนตัดสินใจว่าจะเลือก “มมส”  เป็นชานชลาทางการศึกษา  หรือจะไปต่อที่ไหน อย่างไร –

 

 

ความน่าสนใจของค่ายEDU CAMP นี้  ผมมองว่า นิสิตที่ขับเคลื่อนงานนี้ชาญฉลาดไม่ใช่ย่อย  ไม่ต้องเสียเวลาออกไปตระเวนแนะแนวการศึกษา หรือประชาสัมพันธ์ความเป็น “มมส”  ให้เปลืองงบ  เปลืองเวลา  แต่เลือกที่จะ “เปิดบ้าน”  ให้นักเรียนที่สนใจเข้ามาดูสถานที่จริง  มาใช้ชีวิตกับพี่นิสิต มาสร้างเครือข่ายร่วมกันทั้งนิสิต นักเรียน ครู ผู้บริหารคณะ อาจารย์ เจ้าหน้าที่

 

ตรงนี้ คือ มนต์เสน่ห์ เพราะเป็นการมาแตะต้องสัมผัสความจริง ด้วยหัวใจร่วมกัน  ยิ่งคณะมีเครดิตในทางวิชาชีพของการปั้นแม่พิมพ์ของชาติอยู่แล้ว ยิ่งน่าสนใจ

 

ใช่ครับ -  ยิ่งมีรูปแบบอันหลากหลาย ยิ่งน่าสนใจ  

 

 

ถึงแม้ว่า  ผมจะยังไม่มั่นใจในเชิงลึกว่า แต่ละกิจกรรม ทะลุมรรคผลกี่มากน้อย  เพราะไม่ได้เข้าไปฝังลึกด้วยตนเอง   แต่ก็กล้ายืนยันว่า  กิจกรรมนี้น่าสนใจมาก  มีทั้งวิชาการ  ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม บำเพ็ญประโยชน์ นันทนาการ ฯลฯ  เรียกได้ว่า ครบรส แบบ 4 In 1

 

 

ถึงจะไม่มั่นใจว่า  EDU CAMP บรรลุเป้าประสงค์เชิงลึกกี่มากน้อย  แต่ก็เชื่อว่า นักเรียนที่เข้าร่วมค่าย ย่อมได้เรียนรู้อะไรมากมายพอตัว ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาเล่าเรียน  ทัศนคติและความรู้พื้นฐานของการจะเป็นครู  การเข้าใจตัวตนของตนเอง ทักษะการใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับผู้คน  ฯลฯ

 

ในส่วนของนิสิต ที่หมายถึง คณะกรรมการดำเนินงาน  ผมมองว่า นิสิตได้เรียนรู้ Soft skills & Hard skills อย่างไม่ต้องสงสัย

 

 

กรณี Soft skills ดูกันง่ายๆ ก็หมายถึง  การทำงานเป็นทีม  การประสานงาน การสื่อสารสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  การทำงานแบบยืดหยุ่นการวางแผน - การลำดับความสำคัญ   ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่าเป็นโจทย์ที่นิสิตจะได้เรียนรู้ หรือถูกบ่มเพาะอย่างแน่นอน

 

 

ส่วน Hard skills  นิสิตได้ฝึกทักษะเกี่ยวกับวิชาชีพครูด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น  การออกแบบกิจกรรม ที่หมายถึงเขียนแผนกิจกรรม ประดุจเขียนแผนการสอน การจัดการเรียนรู้/การสอน /การถ่ายทอด การวิเคราะห์ผู้เรียน การวัดผลการเรียนรู้  ฯลฯ   สิ่งเหล่านี้ คือทักษะทางวิชาชีพอย่างไม่ต้องสงสัย
 

 

ผมไม่แน่ใจว่าค่ายครั้งนี้ มีกิจกรรมระหว่าง ครู กับ อาจารย์ของ มมส หรือไม่  ถ้ามีในแบบทั่วไป หรือ เป็นลักษณะอบรม - บริการวิชาการแก่สังคมในตัวก็ถือว่า "เยี่ยม"  

 

ย้ำว่า "เยี่ยม"  เพราะคณะครูที่มาก็กลับไปพร้อมกับชุดความรู้ โปรไฟล์ เหมือนครูมาอบรม มาพัฒนาศักยภาพตัวเองไปในตัว

 

 

ผมยืนยันว่า ชื่นชม EDU CAMP นะครับ และเชื่อว่าหลายๆ คณะ หรือหลายๆ มหาวิทยาลัยก็มีกิจกรรมในทำนองนี้เหมือนกัน  ขึ้นอยู่กับว่า  จะจัดในภาพรวมมหาวิทยาลัย หรือแยกย่อยรายสาขา รายคณะ  หรือแม้แต่ท่องสัญจรออกไปเยือนโรงเรียนต่างๆ ก็เถอะ 

 

 

โดยส่วนตัวของผมนะครับ -   กรณี “มมส.”  ถ้ามีอยู่แล้ว ผมก็อยากให้ทำให้เข้มแข็ง เพราะเป็นการฝึกนิสิตในห้องเรียน หรือบ้านของเราเอง  เป็นกิจกรรมการบอกรัก มมส ที่งดงาม และน่าสนใจ  ยิ่งการนำพานักเรียนและคณะครูเข้ามาร่วมค่ายตรงนี้  นิสิตย่อมได้เข้าร่วมมากกว่าการตระเวนออกไปไกลๆ ที่ไปได้เพียงไม่กี่คน  ....  แต่มิได้หมายความ ผมไม่เห็นด้วยกับการ "ออกไปแนะแนวการศึกษา" นะครับ

 

เพียงแต่จะจะยืนยันว่า กิจกรรม “เปิดบ้าน” เพื่อ “แนะแนวการศึกษา”  ในลักษณะค่ายเช่นนี้  เป็นสิ่งน่าสนใจ อย่างน้อยนิสิตและนักเรียนก็ได้เรียนรู้อะไรๆ มากมายไปด้วยกัน

 

 

ภาพ  :  สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

หมายเลขบันทึก: 718010เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2024 07:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2024 07:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท